เมื่อวันที่ 26 ก.พ.65 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) ได้จัดเสวนาเนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติปี 2565 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจจะฟื้นหรือจะทรุด สหกรณ์จะหยุดวิกฤตเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร?” โดยมีวิทยากรเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) และ น.ส.จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า “ระบบสหกรณ์ คือฐานรากที่ดีที่สุดในระบบเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันต้องประสบปัญหา เกี่ยวกับระบบกฎกติกา ซึ่งถูกมองว่าโตเกินไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้สหกรณ์ที่มีเงินเหลืออยู่ไม่สามารถช่วยเหลือสหกรณ์ที่มีเงินขาดไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ในปี 2562 สหกรณ์ทั้งประเทศ มีกำไรประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่ในปี 63 สหกรณ์ถูกบีบให้เล็กลง เกิดคำถามว่า ส่วนแบ่งกำไร 60,000 ล้านบาทดังกล่าวจะไปอยู่ที่ใคร ส่งผลให้ปัญหาติดขัดต่างๆ ไม่ได้รับการดูแล แก้ไข ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องระบบดังกล่าวแล้วยังมี เรื่องของบุคคลที่มาเป็นผู้บริหารหรือคณะทำงานสหกรณ์ที่แต่มองตัวเองเป็นหลัก โดยไม่ฟังเสียงสมาชิก ปัญหาจึงเกิดจากตัวบุคคล และที่ผ่านมา ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระบบสหกรณ์ถูกระบบเข้ามากำกับบีบเยอะพอสมควร สหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งประเทศถูกสถาบันทางการเงินแทรกแซง ทำให้สมาชิกสหกรณ์เกิดหนี้สิน ขณะที่สหกรณ์ร้านค้า พวกร้านโชว์ห่วยก็ช่วยกันไม่ได้ เพราะถูกร้านสะดวกซื้อกินเรียบ เจอปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้เดือดร้อน ทำให้เศรษฐกิจฐานรากกำลังถูกทำลายเหมือนปะการังที่ถูกเรือเร็ววิ่งผ่าน” นายปรเมศวร์ กล่าว

ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินการของสหกรณ์พบว่า มีความน่าเป็นห่วงว่า มีการกำกับที่ดูเข้ม เกินความพอดีมากไป และผู้กำกับธุรกิจสหกรณ์ไม่ได้มีความรู้มากพอ ปัจจุบันสหกรณ์ทั้งหมดมีประมาณ 7,000 แห่ง ดังนั้นการจะแก้ไขในมุมมองของในระหว่างที่เรายังไม่สามารถปลดพันธนาการได้คือ 1.จุดยืนที่จะช่วยให้สหกรณ์เข้มแข็งคือ การคิดและร่วมมือกันทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกสหกรณ์ด้วยกันเอง 2.สหกรณ์สามารถเป็นตัวแทนเชื่อมโยงสิ่งบริโภคต่างๆ ที่สมาชิกต้องใช้ หรือจัดหาในแบบที่ราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น เงื่อนไขที่ดีกว่า แบบตัวใครตัวมัน ส่งผลให้ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมก็อาจเป็นไปได้ 3.สามารถช่วยกันขายผลผลิตอย่างมีอำนาจต่อรอง หรือมีแบรนด์ได้หรือไม่ 4.เสริมการตลาดจากแบรนด์อื่นมาร่วมจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยได้รับส่วนแบ่งในฐานะคนกลาง

ด้าน นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า “สหกรณ์มีสมาชิกทั่วประเทศเกือบ 12 ล้านคน จาก 7,000 สหกรณ์ หากเปรียบเทียบ พรรคเพื่อไทย ของนายกิตติรัตน์ ได้คะแนนเสียง 10 ล้านเสียง ซึ่งน้อยกว่าสมาชิกสหกรณ์ ดังนั้นผมเชื่อมั่นว่า หากสมาชิกสหกรณ์รวมตัวกันทำอะไรซักอย่าง เช่น เลือกผู้นำ ตั้งรัฐมนตรีก็สามารถทำได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับพรรคเพื่อไทยได้มา 10 ล้านเสียง ได้ ส.ส.มาจำนวนหนึ่ง เลือกมาเป็นรัฐมนตรีสักคน ก็สามารถแก้ปัญหาได้ เมื่อมองในด้านจำนวนคน นี่คือศักยภาพที่สหกรณ์มีอยู่อย่างเหลือเฟือ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องรอให้คนจำนวนน้อยมาช่วยเรา เพื่อมาดูว่าใครจะมากำกับเรา รอว่าจะแก้ไขกฎหมายเมื่อใด ใครจะสงสารเราบ้าง ใครจะทำเงินให้เราบ้าง โดยเฉพาะสันนิบาตสหกรณ์ฯ ถือว่าเป็นผู้รวบรวมสหกรณ์ไว้ด้วยกันทั้งหมด ต้องเป็นผู้นำปลุกจิตใจให้สหกรณ์มารวมตัวกันทุกมิติ โดยลุกขึ้นมาสร้างคะแนนเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงกติกาของเราเอง สิ่งใดที่ติดขัดก็จะสามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้

อีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ผมขอเชิญชวนสมาชิกสหกรณ์เกือบ 12 ล้านคนทั้งประเทศไทย มาร่วมมือกัน หารือกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาช่วยไม่มีหรอก ประเทศนี้ยาก ท่านต้องรวมตัวกันเอง ผมและทีมงานพร้อมทำงานเคียงข้างชาวสหกรณ์ ผมเชื่อว่าท่านรู้ปัญหาของท่านเอง เมื่อท่านรวมตัวกัน ท่านก็จะมีพลังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปลดล็อคพันธนาการเหล่านั้นลงได้ และยังช่วยสร้างอนาคตให้กับประเทศไทยด้วยตัวท่านเองได้เช่นกัน ” นายรักษ์พงษ์ กล่าว

การเสวนาครั้งนี้ นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของผู้ร่วมเปิดตัวพรรคสร้างอนาคตไทย ต่อกลุ่มฐานเสียงกว่า 12 ล้านคน ที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานราก ที่น่าจับตามองและชวนให้เกาะติดสถานการณ์ตาม องศาความแรงของกระแสข่าว “พรรคสร้างอนาคตไทย” ในลำดับต่อไป