การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานกิจกรรม “Songkran Music Heritage Festival 2022 เย็นฉ่ำวิถีไทย รื่นเริงใจในเมืองเก่า” 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัด ณ วัดพระราม และ จังหวัดสงขลา จัด ณ เมืองเก่า โดยได้รับเกียรติจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธี เพื่อส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทย พร้อมสืบสานประเพณี วัฒนธรรมไทย ที่มีตลอดมา และยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า “สำหรับการจัดกิจกรรมในวันสงกรานต์เป็นกิจกรรมที่เราได้จัดมาในทุกปีที่ผ่านมา แม้ช่วงนี้จะยังคงอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดการเรื่องของโรคระบาดได้เป็นอย่างดี และปีนี้ก็ยังมีมติให้สามารถจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด โดยในปีนี้เราได้จัดงานกิจกรรม “Songkran Music Heritage Festival 2022 เย็นฉ่ำวิถีไทย รื่นเริงใจในเมืองเก่า” โดยได้เลือก สถานที่จัดงานสงกรานต์ ทั้งหมด 2 จังหวัดด้วยกัน ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัด ณ วัดพระราม และ จังหวัดสงขลา จัด ณ เมืองเก่า โดยในงานมีการจัดกิจกรรมมากมาย เพื่อส่งมอบความสุขรับปีใหม่ให้กับคนไทยทุกคน อีกทั้งยังเป็นการสืบสานประเพณี วัฒนธรรมไทย ที่มีตลอดมา รวมถึงเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่อว่า สำหรับการกิจกรรม“Songkran Music Heritage Festival 2022 เย็นฉ่ำวิถีไทย รื่นเริงใจในเมืองเก่า” ทั้ง 2 จังหวัด ในครั้งนี้นั้น เราได้แบ่งกิจกรรมหลัก ๆ และไฮไลท์ที่น่าสนใจ โดยเน้นเอกลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดให้มีการจัดงานสืบสานประเพณี วัฒนธรรมไทย มีกิจกรรม และไฮไลท์สำคัญคือ ขบวนแห่เทพีสงกรานต์สุดอลังการ (150 คน) นำทีมโดย เทพีปรางค์ กัญญารัตน์ , เทพีเดียร์น่า ฟลีโป และ เทพีพิ้งกี้ สาวิกา พร้อมแสงสีเสียง ศาลากลาง (เก่า) อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ และร่วมปักธงเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ การจัดกิจกรรมสาธิตงานหัตถกรรม สานปลาตะเพียน การใส่ชุดไทยเข้าร่วมงานสงกรานต์ การนำเสนอการแสดงดนตรีศิลปินชื่อดังของประเทศไทย แก้ม เดอะสตาร์ , ป็อบ ปองกูล , ลุลา และ เปาวลี การนำเสนอการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โขน ระบำพื้นบ้าน การจัด Visual Idea Decoration จุดถ่ายภาพ โดยนำปลาตะเพียนมาเป็นตัวนำในการออกแบบ อาทิ ซุ้มอุโมงค์ตะเพียนใบลาน สัญลักษณ์แห่ง ความอุดม สมบูรณ์ โดยให้ผู้เข้าร่วมงานสานปลาตะเพียน และนำมาคล้องร่วมกันในบริเวณกำแพงอุโมงค์ โดยมีน้องชื่นใจ ปลาตะเพียน เป็นตัวเล่าเรื่อง การย้อมไฟบริเวณโบราณสถานรอบ ๆ บริเวณพื้นที่จัดงาน ศาลหลักเมือง อุโมงค์น้ำ การออกร้านขายอาหารประจำถิ่นและสินค้าเด่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียง
ในส่วนจังหวัดสงขลา จัดให้มีการจัดงานสืบสานประเพณี วัฒนธรรมไทย โดยจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย การจัด กิจกรรมสาธิตอาหารคาวหวาน อาทิ ยำสายเกาะยอ ข้าวยำปักษ์ใต้ ขนมไข่เตาถ่าน เต้าคั่วหรือสลัดทะเลสาบ การแต่งกายผ้าประจำถิ่นเข้าร่วมงาน อาทิ ปาเต๊ะ บาติก การนำเสนอการแสดงดนตรีศิลปินชื่อดังของประเทศไทย อาทิ โอ้ต ปราโมทย์ , ว่าน ธนกฤต , วี วิโอเลต ฯลฯ การนำเสนอการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โนราห์ รองแง็ง การจัด Land Mark จุดถ่ายภาพ อาทิ นำผ้าทอเกาะยอมาทำเป็นต้นไม้ แสดงถึงความเจริญงอกงาม สิริมงคล การจัดประดับตกแต่งเพดานถนน โดยนำกรงนกกรงหัวจุกของเด่นภาคใต้มาจัดประดับตกแต่ง การนำว่าว ธงสามเหลี่ยม และโคมไฟจีนมาประดับทั่วพื้นที่จัดงานเมืองเก่า การตกแต่งไฟประดับเฉดสีตามลูกปัดโนราห์ การจัดทำ Mapping Story เล่าเรื่องเมืองสงขลา โดยตัวการ์ตูน น้องนางเงือกมิลา mascot ที่จัดทำขึ้นเฉพาะงานนี้ เป็นผู้นำเสนอเรื่องราว การย้อมไฟบริเวณตึกเก่าในเมืองสงขลา อุโมงค์น้ำตก และ การออกร้านขายอาหารประจำถิ่นและสินค้าเด่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง
โดยกิจกรรมงานสงกรานต์ในครั้งนี้เราได้เตรียมเพื่อให้คนไทยได้ร่วมเฉลิมฉลองกับเทศกาลสงกรานต์อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ประเพณีไทยควบคู่กับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง” นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวทิ้งท้าย