นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) และ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมแถลงสถานการณ์ทางสังคม ประเด็น “วิกฤตเด็กเกิดน้อย ผลกระทบต่อสังคมไทย” ณ ห้องประชาบดี ชั้น 19 A กระทรวง พม. สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ

นายอนุกูล กล่าวว่า สถานการณ์ทางสังคม ประเด็น “วิกฤตเด็กเกิดน้อย ผลกระทบต่อสังคมไทย” ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายในปัจจุบัน เนื่องจากพบว่า ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ โดยในปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 5.02 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี ซึ่งอัตราการเกิดที่ลดลงจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในอนาคต รวมทั้งเกิดภาวะพึ่งพิง วัยแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2583 หากอัตราการเกิดยังคงลดต่ำลง สัดส่วนวัยเด็กจะมีเพียงร้อยละ 13.3 ในขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือร้อยละ 55.5 และสัดส่วนวัยสูงอายุสูงถึงร้อยละ 31.1 และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปชะลอการมีบุตร ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 อาจเป็นตัวเร่งให้การเกิดน้อยและการลดลงของประชากรไทยเร็วขึ้น

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานหลักของภาครัฐในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human capital) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่มุ่งเน้นพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในทุกมิติ มีสมรรถนะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ และมีทักษะการใช้ชีวิต เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยได้เตรียมการออกแบบนโยบายการคุ้มครองทางสังคมด้านเด็ก ดังนี้ 1) ขยายความครอบคลุมของเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยมุ่งสู่ความถ้วนหน้า 2) มุ่งเน้นการลงทุนทางสังคม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เต็มศักยภาพ โดยการส่งเสริมให้มีศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง 3) สร้างสังคมและสภาพแวดล้อมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ และ 4) เตรียมพร้อมรับมือกับอัตราการเกิด เพื่อสร้างสมดุลให้แก่จำนวนประชากรในแต่ละช่วงวัยให้มีความเหมาะสม

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การแถลงสถานการณ์ทางสังคมในวันนี้ เป็นการสะท้อนการวิจัยถึงอัตราการเกิดที่ต่ำลงอย่างน่าวิตก และต้องนำมาสื่อสารต่อสาธารณะ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ร่วมกัน ซึ่งกระทรวง พม. จะต้องเร่งขับเคลื่อนงานในการสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับเด็ก และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เนื่องจากจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงส่งผลต่อจำนวนแรงงานที่ลดลงด้วย ผนวกกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย อีกทั้งการสร้างโอกาสแก่ครอบครัวเด็ก เนื่องจากอัตราการเกิดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเด็กเกิดใหม่ใน 1,000 วันแรก ทางการแพทย์ถือว่าเป็นมหัศจรรย์ 1,000 วัน นับเป็นวัยทองคำที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ โดยโครงการเงินอุดหนุนเด็กเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเด็กในครอบครัวยากจน เดือนละ 600 บาท ซึ่งกระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 7 มีเด็กเข้าร่วมโครงการประมาณ 2.4 ล้านคน ดังนั้น สังคมควรมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นมิตรต่อเด็ก และเปิดโอกาสให้ครอบครัวมีความพร้อมในการดูแลเด็กเล็ก รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมอื่นๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาที่สมวัย

#ช่วย24ชั่วโมง
#ช่วย24ชม
#พมช่วย24ชม
#ข่าวพม.